วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

Good Buy... คิดก่อนช้อป สังคมก็ดีขึ้นได้

โดย ธนภณ เศรษฐบุตร (@thanapons) 

จะดีแค่ไหนถ้าการช้อปปิ้งไม่เป็นเพียงแค่การซื้อของเพื่อตนเองอีกต่อไป จะดีแค่ไหนถ้าวันนี้การซื้อของของคุณสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ วันนี้สิ่งที่พูดมาทั้งหมดไม่เป็นเพียงแค่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีผู้ผลิตและผู้ค้ามากมายที่ต้องการก้าวข้ามการทำธุรกิจหรือการค้าขายแบบแบบเดิมๆ ไปสู่การค้าขายที่เป็นธรรมหรือที่เรียกกันว่า "แฟร์เทรด" (Fairtrade)
Fair Trade คือความพยายามในการส่งเสริมการค้าแบบยุติธรรม
โดยเน้นสินค้าและบริการจากประเทศโลกที่สามและโลกที่สองไปยังประเทศโลกที่หนึ่ง
แนวคิดของแฟร์เทรดไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ในต่างประเทศ แถมสินค้าแฟร์เทรดหลายตัวก็มีคุณภาพที่เรียกได้ว่าทัดเทียมกับสินค้าทั่วไปในท้องตลาดเลยทีเดียว (ใครที่คิดว่าของที่ทำเพื่อสังคม จะมีดีไซน์ที่เชย คุณภาพขาดๆ เกินๆ ขอให้คิดใหม่) เพื่อให้เห็นภาพกันมากขึ้นผู้เขียนขอยกตัวอย่างหนึ่ง Pants to Povertyกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) จากประเทศอังกฤษที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตฝ้ายในประเทศอินเดีย Pants to Poverty เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ร่วมกับผู้ปลูกฝ้ายและโรงงานที่ประเทศอินเดีย เพื่อผลิตกางเกงในแฟร์เทรดและส่งขายไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก นอกจากการซื้อขายกับผู้ผลิตและโรงงานอย่างเป็นธรรมแล้ว Pants to Poverty ยังเข้าไปร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการปลูกฝ้ายแบบอินทรีย์อีกด้วย
  
© pantstopoverty.com
กลับมาดูตัวอย่างของประเทศไทยกันบ้าง เคสของธุรกิจแฟร์เทรดที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคงไม่พ้นดอยตุง ธุรกิจที่ช่วยให้ชุมชนหยุดการตัดไม้ทำลายป่าและหันมาสร้างอาชีพให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ โดยดอยตุงนอกจากเข้าไปช่วยชุมชนพัฒนาอาชีพแล้ว ยังรับซื้อสินค้าต่างๆ จากชุมชนในราคาที่เป็นธรรมอีกด้วย นอกเหนือจากดอยตุงแล้ว "ปลาจะเพียร" ก็เป็นอีกหนึ่งกิจการเพื่อสังคมแฟร์เทรดที่น่าสนใจ

© doitung.org
‘ปลาจะเพียร’ ถูกริเริ่มขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มอาสาสมัครและองค์กรต่างๆ อาทิ Thailand Creative Design Center (TCDC), นิตยสาร a day, Thai Graphic Designer Association (ThaiGa), สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม (สกส.), สถาบันChangeFusion และอีกหลากหลายองค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างตลาดสำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างศักยภาพในการประกอบอาชีพให้กับชุมชนและองค์กรเพื่อสังคมอื่นๆ อย่างยั่งยืน
ชื่อปลาจะเพียร
มาจาก ‘ปลาตะเพียนสาน’ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงงานฝีมือของชุมชนความเป็นไทย
และการสานยังแสดงถึงการสอดประสานร่วมมือร่วมใจรวมกับความ ‘เพียร’ พยายามในการว่ายทวนน้ำของปลา

www.facebook.com/plajapian
จากเคสทั้งหมดที่กล่าวมาคงเห็นแล้วว่า ปัจจุบันนี้มีธุรกิจต่างๆ มากมาย ที่ไม่ดำเนินธุรกิจโดยมีเพียงแค่กำไรเป็นตัวตั้ง หากแต่ยังคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมกับคู่ค้า พวกเราเองในฐานะผู้บริโภคก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นได้ผ่านการสนับสนุนสินค้าและบริการของกิจการแฟร์เทรดต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าถ้าพลังผู้บริโภคนั้นมีมากพอที่จะแสดงให้ธุรกิจทั้งหลายเห็นว่ายุคของการทำธุรกิจที่เอาแต่ผลประกอบการเป็นที่ตั้งนั้นล้าสมัยไปเสียแล้ว และร่วมกันส่งเสริมธุรกิจที่ดีต่อสังคมเช่นธุรกิจแฟร์เทรด ไม่แน่ว่าในอนาคตการที่ธุรกิจทั้งหลายจะแปรเปลี่ยนตนเองเป็นธุรกิจแฟร์เทรดทั้งหมดอาจจะไม่เป็นเพียงแค่ความฝันก็เป็นได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More