วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โอเพ่นดรีม : สร้างเทคโนโลยี สร้างฝัน สร้างความเปลี่ยนแปลง

โอเพ่นดรีม : สร้างเทคโนโลยี สร้างฝัน สร้างความเปลี่ยนแปลง

July 1, 2010

เรื่อง : อาศิรา พนาราม
opendream
ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาคุณอาจเคยได้ยินคำว่า “ผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneur)” หรือ “ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)” กันมาบ้าง ธุรกิจดังว่านี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ถือเป็นธุรกิจโมเดลใหม่ที่โดยมากจะมุ่งแก้ไขปัญหาของคนยากไร้ในส่วน ต่างๆ ของโลก (แทนที่จะมุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด) จริงๆ แล้วโลกเรามีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านนี้อยู่มากมาย องค์กรเหล่านั้นอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคของผู้ใจบุญ ซึ่งมีข้อจำกัดไม่น้อย เช่น เงินบริจาคมีความไม่แน่นอน หรือผู้บริจาคอาจเข้ามามีอิทธิพลในการทำงาน ฯลฯ ดังนั้น เพื่อฝ่าด่านอุปสรรคดังกล่าว ธุรกิจเพื่อสังคมจึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนความมุ่งหมายดีๆ ให้อยู่และเติบโตได้ด้วยตัวเอง
คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ขณะนี้โลกทุนนิยมสุดขั้วได้แสดงความล้มเหลวออกมาอย่างชัดเจนจนกระเทือนไปทั่วโลก การทำธุรกิจที่ “คิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก” จึงก้าวเข้ามามีบทบาทและเป็นแนวโน้มใหม่ที่ทุกประเทศเริ่มให้ความสำคัญ รวมถึงประเทศไทยเราที่ก็มีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (ผู้มีใจรักอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง) เข้ามาลงสนามนี้ กันแล้วไม่น้อย วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “คู่หูวิศวกรคอมพิวเตอร์” ที่เลือกก้าวออกจากเส้นทางความสำเร็จในองค์กรใหญ่ เพื่อเดินตามฝันในเวทีของตนเอง
บริษัทโอเพ่นดรีม – น้องใหม่ในธุรกิจเพื่อสังคม
“โอเพ่นดรีม” (Opendream) คือ ผู้ให้บริการด้านการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ รวมไปถึงเทคโนโลยีการสื่อสารอื่นๆ ให้แก่องค์กรอิสระที่ทำงานแก้ปัญหาสังคม ปัญหาชนบท และปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก “ธุรกิจเปิดฝัน” นี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของ 2 ผู้ก่อการ คือ หนึ่ง – พัชราภรณ์ ปันสุวรรณ และเก่ง – ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ตามประสาคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่อยากแสวงหาความหมายให้กับชีวิต มากกว่าการอยู่ภายใต้ระบบ(ทุนนิยม)เดิมๆ ทั้งสองได้มาพบกับผู้เป่าหู คือ สุนิตย์ เชรษฐา จาก Change Fusion ในงานสัมมนา “อินเทอเน็ตเพื่อการเปลี่ยนแปลง” และจากวันนั้นเป็นต้นมาชีวิตของพวกเขาก็ได้ก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงจริงๆ โดยได้เริ่มใช้ความเก่งกาจด้านไอทีสนับสนุนงานขององค์กร NGO

ช่วงแรกนั้นพัชรา ภรณ์และปฏิพัทธ์ยังไม่รู้จักคำว่า “ผู้ประกอบการสังคม” เลยด้วยซ้ำ พวกเขาตั้งบริษัทโอเพ่นดรีมขึ้นมาเพื่อรับงานจากลูกค้าต่างประเทศ (เพื่อให้ได้เงินจำนวนมากๆ) แล้วนำเงินนั้นไปช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยคิดเพียงว่า “คนทำงานเพื่อสังคมก็ต้องไม่หาเงินกับสังคม” แต่ต่อมาความคิดและวิธีการทำงานของพวกเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อสุนิตย์แนะนำว่า “ผู้ประกอบการสังคมมีอยู่จริง และสังคมก็มีรายจ่ายอยู่แล้ว ทำไมจะจ่ายให้กับคนที่อยากทำอะไรให้ดีขึ้นไม่ได้ล่ะ” ตั้งแต่นั้นพวกเขาจึงเริ่มศึกษาวิธีการของผู้ประกอบการสังคมและหาโมเดลที่เหมาะสมกับธุรกิจไปเรื่อยๆ
opendream2
โมเดลธุรกิจ – สร้างสรรค์สิ่งดีบนลำแข้งของตัวเอง
ทุกวันนี้โอเพ่นดรีมไม่ได้ทำงานกับ ชุมชนโดยตรง แต่พวกเขาเลือกที่จะสร้างเทคโนโลยีการสื่อสารให้กับกลุ่ม NGO และองค์กรเพื่อสังคมต่างๆ ด้วยมองว่าความรู้ด้านไอทีนั้นจะเป็นเครื่องมือชั้นดีในการเผยแพร่ข้อมูลของ องค์กร (ซึ่งมักจะขาดแคลนเครื่องมือชั้นดีที่ว่า) องค์กรเหล่านี้เป็นศูนย์กลางการทำงานกับชนบทอยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อโอเพ่นดรีมตั้งต้นช่วยที่ศูนย์กลาง ความช่วยเหลือก็จะกระจายต่อไปด้วยเทคโนโลยีที่ดี ที่ผ่านมาพวกเขาเลือกทำงานกับองค์กรใหญ่ เพราะมีศักยภาพทั้งด้านเงินทุนและด้านความช่วยเหลือต่อสังคม ในขณะเดียวกันก็รับงานเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

ตลอดเวลาหนึ่งปีครึ่งของโอเพ่นดรีม พวกเขาค้นหาวิธีการดำเนินงานที่เหมาะกับตัวเองเรื่อยมา จนในที่สุดก็ได้โมเดลที่เป็นรูปร่างชัดเจน
“โอ เพ่นดรีมเราแบ่งวิธีหารายได้ออกเป็นสองส่วนครับ หนึ่งคือ “จากภาคสังคม” ด้วยการ “Optimize” กำไรให้ได้มากที่สุด และสอง “จากภาคธุรกิจต่างประเทศ” ด้วยการ “Maximize” กำไรให้ได้มากที่สุดเช่นกัน”
พวกเขากำหนดขอบเขตต่ำสุด-สูงสุดของ ผลกำไรเอาไว้ แต่อย่างน้อยต้องให้ได้กำไรมากกว่าต้นทุน ดังนั้นด้วยที่ต้นทุนเท่ากัน (ใช้คนเท่ากัน ซอฟแวร์ชุดเดียวกัน วิธีคิดเหมือนกัน ต่างกันที่เวลา) จึงสามารถเฉลี่ยกำไรของงานทั้ง 2 ภาคเข้าด้วยกันได้ และเมื่อได้กำไรมา พวกเขาจะแบ่งมันออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในสำนักงาน  2. ค่าใช้จ่ายในการขยายทีมงาน และ 3. ค่าใช้จ่ายเพื่องานสาธารณประโยชน์ เช่น สนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายไอที

การให้บริการเทคโนโลยีที่ยั่งยืน
หลักการสำคัญของโอเพ่นดรีม ที่ว่ายั่งยืนนั้นเป็นอย่างไร พัชราภรณ์และปฏิพัทธ์เล่าให้ฟังว่า โดยทั่วไปการทำเว็บไซต์หรือให้บริการด้านไอทีนั้น เมื่อลูกค้าจ้างบริษัทมาทำงานก็ต้องจบงานกันตามสัญญา ซึ่งการจบงานนั้นมีหลายแบบ เช่น จบแล้วมีการพัฒนาเว็บต่อ (ต่อสัญญาทำงานช่วงที่สอง) หรือจบแล้วจบเลย (เว็บหายไปเมื่อโฮสติ้งหมดอายุ) แต่สำหรับที่โอเพ่นดรีมพวกเขาจะทำระบบที่ลูกค้าสามารถดูแลตัวเองได้ เช่น สามารถอัพเดทข้อมูลได้เอง หรือให้โปรแกรมเมอร์อื่นเข้ามาเขียนโค้ดต่อยอดได้ ซึ่งในจุดนี้ซอฟท์แวร์ที่เป็น Open source จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก

“โดยทั่วไปโปรแกรมเมอร์มักเขียน โปรแกรมขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างงานให้ได้ดั่งใจ (และโชว์ฝีมือเทพ) แต่ที่ โอเพ่นดรีม เราเลือกใช้ Open source เพื่อลดความยุ่งยากในการทำ เพราะเป็นซอฟท์แวร์มาตรฐาน รู้จักกันทั่วโลก ง่ายต่อการพัฒนาปรับปรุงภายหลัง และหากมองในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว Open source คือการใช้ต้นทุนที่น้อยที่สุดเพื่อให้ได้ผลกำไรมากที่สุดด้วย”
opendream3
กำไรของธุรกิจเพื่อสังคมมีมากกว่าหนึ่ง
ที่ว่ามีมากกว่าหนึ่งนั้นหมายถึง กำไรไม่ได้มาในรูปของตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง “อิมแพค” ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมด้วย ตัวอย่างผลงานที่เห็นได้ชัด คือ เว็บไซต์ของ “หมอชาวบ้าน” จากเว็บธรรมดาๆ ที่มีผู้เข้าชมเพียงหลักพันต่อเดือน ภายในสองสามเดือนเมื่อโอเพ่นดรีมเข้ามาทำเว็บให้ใหม่ จำนวนผู้เข้าชมของเว็บนี้พุ่งขึ้นเป็นสองสามแสน โดยครั้งนั้นลูกค้ามีโจทย์หลักคือ ต้องการนำเนื้อหาย้อนหลัง 30 ปีของหนังสือ “หมอชาวบ้าน” มาขึ้นบนเว็บเพื่อเป็นฐานข้อมูลสุขภาพให้คนได้สืบค้น ซึ่งทีมงานของโอเพ่นดรีมได้จัดทำระบบขึ้นมาใหม่ให้ลูกค้าสามารถกรอกข้อมูลลง ไปได้เอง รวมทั้งตั้งระบบสืบค้นจาก google ด้วย

อันที่จริงเนื้อหา ของหนังสือหมอชาวบ้านนั้นดีมากอยู่แล้ว เมื่อได้ระบบการสื่อสารที่ง่ายและดีมารอบรับ จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาก แทนที่ความรู้ต่างๆ จะถูกเก็บอยู่ในคลังของสำนักพิมพ์ ก็มาอยู่ในช่องทางที่สาธารณชนเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น

“การวางระบบที่ดีทำให้เกิดกำไรได้อีกทอดหนึ่งนะ เทคโนโลยีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดให้แก่ทีมงานซึ่งเป็นคนรุ่น ใหม่ได้ เมื่อพวกเขาได้รับการปลูกฝังทั้งทางอุดมการณ์และทางทักษะ ในอนาคตเขาเหล่านี้ก็อาจออกไปประกอบธุรกิจเพื่อสังคมด้วยตนเอง สามารถช่วยขยายเครือข่ายและขยายความช่วยเหลือไปสู่สังคมในวงกว้าง”

วันข้างหน้าของโอเพ่นดรีม
พัชราภรณ์และปฏิพัทธ์พูดถึงองค์กรที่พวกเขาอยากจะเป็นในอนาคตว่า
“เราอยากเป็นแบบ ParqueSoft ซึ่งเป็นสวนนวัตกรรมในประเทศโคลัมเบีย โครงการนี้ก่อตั้งโดยออลันโด รินคอน โบนิลลา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสังคมด้านไอทีเช่นกัน โมเดลของรินคอน คือ การขยายเน็ทเวิร์ค โดยสร้างคนยากจนที่สนใจด้านไอทีให้กลายเป็นพนักงานของ ParqueSoft และก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญ”

“ปัจจุบัน พนักงานเก่าของรินคอนประมาณ 400 คน บริหารบริษัทในเครือ 30 บริษัทซึ่งอยู่ในที่ผืนเดียวกัน ข้อดีคือค่าบริหารจัดการต่ำ และแต่ละหน่วยย่อยก็มีอิสระในการที่จะออกไปสร้างอิมแพคอะไรให้สังคมก็ได้ (โดยที่ตรงกลางไม่ต้องควบคุม) นี่เป็นโมเดลที่ทำให้ ParqueSoft เป็นที่กล่าวขวัญถึงในฐานะผู้ประกอบการสังคมตัวอย่าง”
ในขณะนี้การทำงาน ของโอเพ่นดรีม คือ การมุ่งสร้าง “คน” และสร้าง “เครือข่ายไอที” ที่สร้างสรรค์ให้ประเทศไทย แต่ต่อไปในอนาคต เมื่อประสบการณ์หล่อหลอมพวกเขาจนเข้าฝัก เราอดคิดไม่ได้ว่าพวกเขาคงจะเคลื่อนตัวไป “เปิดฝัน” ให้กับดินแดนที่ห่างไกลความเจริญและช่วยสร้างสังคมดีๆ ได้อีกมากโขทีเดียว
…นับถือ นับถือ


น่ารู้เพิ่มเติมกับ “โอเพ่นดรีม”
-    ดร.มีชัย วีระไวทยะ คือผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจในด้านโมเดลการทำงาน ในขณะที่เราเพิ่งเริ่มรู้จักกับคำนี้ ดร.มีชัยได้ทำธุรกิจเพื่อสังคมมากว่า 30 ปีแล้ว โดยมีปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่วิธีคิดนอกกรอบเพื่อการแก้ปัญหา และที่สำคัญ ดร.มีชัยได้มอบประโยคเด็ดให้เป็นแรงผลักดันว่า “หากคุณจะเป็นผู้ประกอบการสังคม คุณจะต้องหากินเองก่อน แล้วค่อยไปขอทาน ถ้าคุณไปขอก่อนคุณจะกลายเป็น NGO”
-  การสร้างเครือข่ายเป็นพื้นฐานสำคัญของธุรกิจเพื่อสังคม ทุกวันนี้โอเพ่นดรีมเป็นเจ้าภาพจัดงานให้นักพัฒนาด้านต่างๆ ได้มาเจอกัน (เช่น Barcamp, Readcamp เป็นต้น) โดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ประเด็นเรื่องการช่วยเหลือสังคมเข้าไปเลย แต่การเชื่อมโยงกันไว้ก่อนถือเป็นการสร้างสังคมไอทีให้พัฒนาต่อไป โดยหากในอนาคตมีคนที่สนใจเรื่องสังคม พวกเขาก็สามารถขยายเครือข่ายความช่วยเหลือออกไปได้ง่ายขึ้น
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง http://opendream.co.th/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More